วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560

“ติ่งเนื้อ” โรคผิวหนังหรือเป็นเนื้อร้าย ?


“ติ่งเนื้อ” โรคผิวหนังหรือเป็นเนื้อร้าย ?

“ติ่งเนื้อ” ไม่ใช่ทั้งไฝหรือขี้แมลงวัน แต่ประกอบไปด้วยส่วนของหนังกำพร้าด้านนอกสุด หนังแท้ และเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งยังไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเราสามารถพบติ่งเนื้อได้ทุกเพศ โดยพบมากในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีลักษณะเป็นติ่งๆ สีดำ สีน้ำตาล และสีเนื้อที่ติดอยู่บนผิวหนัง

ติ่งเนื้อคือเนื้องอกที่อันตรายอย่างโรคมะเร็งหรือไม่

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจว่า ติ่งเนื้อไม่ใช่เนื้องอกหรือเนื้อร้ายอย่างโรคมะเร็ง และยังไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดใดๆ อีกด้วย แต่อาจจะสร้างความรำคาญใจหรือทำให้ผิวหนังแลดูไม่สวยงามยามพบเห็นเท่านั้นเอง ทั้งนี้ยังมีการศึกษาทางสถิติพบว่า ติ่งเนื้อที่อยู่บนผิวหนังมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคไขมันในเลือดสูง

วิธีกำจัดติ่งเนื้ออย่างปลอดภัย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะใช้วิธีการจี้ด้วยไฟฟ้าหรือเลเซอร์ รวมถึงการผ่าตัดเล็กโดยตัดเอาติ่งเนื้อออกไป จากนั้นดูแลรักษาแผลตามปกติเหมือนแผลทั่วไป สำหรับในบางกรณีที่น่าสงสัย แพทย์อาจจะนำเอาติ่งเนื้อไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

การดูแลผิวหนังของตนเองเมื่อมีติ่งเนื้อ

1 หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ก่อให้เกิดการเสียดสีกับติ่งเนื้อ เพื่อลดอาการบาดเจ็บหรือทำให้รู้สึกรำคาญใจ

2 พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนมากเกินไป จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดติ่งเนื้อได้

3 ติ่งเนื้อสามารถหลุดออกเองได้ ด้วยการบิดหรือเด็ดออกมา แต่สำหรับติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่มาก ไม่ควรตัดออกด้วยตนเองที่บ้าน เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้อาจจะไม่สะอาดเพียงพอ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

4 หากพบว่าติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ผิดปกติ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยอย่างเช่นมีหนอง น้ำเหลือง หรือบาดเจ็บจนเป็นแผล ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธี และอาจจะมีการตัดติ่งเนื้อเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง

เรียบเรียงโดย: แชร์กันไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น