วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เตือนอันตราย แบคทีเรียในช่องปาก เป็นสาเหตุของโรคร้ายถึงชีวิต


เตือนอันตราย แบคทีเรียในช่องปาก เป็นสาเหตุของโรคร้ายถึงชีวิต

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าโรคในช่องปากอย่างฟันผุและโรคเหงือก มีสาเหตุจากกลุ่มเชื้อ‘แบคทีเรียก่อโรค’ที่อาศัยอยู่ในช่องปาก ในบรรดาเชื้อก่อโรคเหล่านี้มีเชื้อที่ก่อโรคเหงือกอยู่ชนิดหนึ่งชื่อว่า “เชื้อจินจิวาริส(P. Gingivalis)”

โดยเมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยทางการแพทย์ต่างๆพบว่า“เชื้อจินจิวาริส”นี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะ โรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดอุดตันหรือแตก เช่น โรคหัวใจขาดเลือด, อัมพฤกษ์หรืออัมพาต เป็นต้น

เชื้อจินจิวาริสในปากทำให้เกิดโรคร้ายแรงที่เกี่ยวกับเส้นเลือดได้อย่างไร?...เชื้อจินจิวาริสที่อาศัยอยู่ตามซอกฟันจะค่อยๆเซาะไปตามเหงือก นานเข้าก็เดินทางไปถึงยังเส้นเลือดที่อยู่ลึกภายในเหงือก ในที่สุดก็แทรกเข้าไปเส้นเลือดนี้ทำให้เส้นเลือดเสียหาย เกิดเป็นเลือดซึมตามเหงือกได้

นอกจากนี้เชื้อจินจิวาริสที่อยู่ใกล้เคียงก็จะทยอยเข้าไปในเส้นเลือดนี้ ส่งผลให้เชื้อจินจิวาริสเหล่านี้เข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดสามารถเดินทางไปได้ทั่วร่างกาย ถ้าเม็ดเลือดขาวจัดการเชื้อที่เข้ามานี้ไม่ได้หมด เกิดมีเชื้อบางตัวฝังตัวเข้าไปในผนังเส้นเลือดได้สำเร็จก็จะทำให้เส้นเลือดนั้นอักเสบจนเส้นเลือดอุดตันหรือแตกได้ ซึ่งถ้าเป็นเส้นเลือดที่อยู่ในสมองก็จะก่อโรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ถ้าเป็นเส้นเลือดที่หัวใจก็จะเกิดเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้นั่นเอง

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เอื้อให้เชื้อจินจิวาริสนี้ก่อโรคร้ายแรงนี้ได้?...เชื้อจินจิวาริสยิ่งมีจำนวนมากเท่าไรโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายก็จะยิ่งมากเท่านั้น ทั้งนี้ในปากเราเองก็มีเม็ดเลือดขาวที่คอยควบคุมเชื้อร้ายไม่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

แต่ถ้าเราไม่ค่อยได้แปรงฟันเชื้อร้ายนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นรวดเร็วจนเม็ดเลือดขาวต้านไม่ไหว เชื้อจินจิวาริสก็จะเซาะลงไปถึงเส้นเลือดในเหงือกสำเร็จก่อโรคร้ายแรงตามมาได้ ส่วนอาการที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงดังกล่าวคือ เหงือกอักเสบบ่อยๆ แปรงฟันแล้วเลือดออกง่าย

สำหรับแนวทางป้องกันภาวะเชื้อจินจิวาริสก่อโรคร้าย...ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี โดยการแปรงฟัน 3 เวลาหลังอาหาร ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟันเป็นประจำ และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ จากผลงานวิจัยหนึ่งพบว่า‘สารคาเตคิน’ในชาเขียวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคโดยไม่ทำอะไรแบคทีเรียที่ดีในช่องปาก ดังนั้นจึงแนะนำเพิ่มเติมให้บ้วนปากภายหลังการแปรงฟันด้วยน้ำ‘ชาเขียว’เข้มข้น(ชงผงชาเขียวในน้ำอุ่น)ก่อนนอน โดยไม่ต้องบ้วนน้ำเปล่าตามหลัง

[หมายเหตุ: ชาเขียวจะให้ผลได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับชาชนิดอื่นๆ และสีเขียวจากชาเขียวเองก็ไม่เคลือบติดบนฟันนะครับ]

Credit-Information: Iwai T, J Periodontal Res. 2009; Tamura M et al, Biol Pharm Bull. 2011 Credit-Pictures: NHK TV, Japan (ดัดแปลงภาพโดยใส่ข้อความภาษาไทย) อ้างอิง...Dr.Aki - หมออาคิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น