วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คนมีลูกควรอ่าน!! วิธีเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น กับ 8 ความลำบาก เพื่อให้ลูกเป็นเด็กเก่ง โตไปมีคุณภาพ


คนมีลูกควรอ่าน!! วิธีเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น กับ 8 ความลำบาก เพื่อให้ลูกเป็นเด็กเก่ง โตไปมีคุณภาพ

การเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น…เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่พ่อแม่ไทยให้ความสนใจ เพราะเด็กญี่ปุ่นที่เราเห็นนั้น มักดูเก่งและมีความสามารถ ซึ่งการเลี้ยงดูหรือการใช้ชีวิตของเด็กญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าจะเก่งหรือโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พัฒนาชาติให้เจริญได้ขนาดนี้

ญี่ปุ่น ประเทศเล็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ได้อยู่เป็นรองของหลายๆ ประเทศใหญ่ๆ เลย แต่ก็มีหลายคนที่คิดว่าเด็กญี่ปุ่นต้องมีความสุขสบายเพราะอยู่ในประเทศที่มีสังคมและการจัดการสังคมที่ดีแน่นอน!!

แต่แท้จริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นไม่นิยมฝึกให้เด็กญี่ปุ่นมีนิสัยที่สบายเกินไป เพราะเด็กที่สบายเกินไปอาจเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รักสบายจนอาจมีผลเสียต่อการพัฒนาชาติ

ซึ่งเทคนิคการเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่นที่ทางแอดจะนำมาเสนอนี้ คุณชินอิจิโร่ อิคาริ คุณพ่อชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์อิจิมันเนนโด ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตหนังสือชุด Happy Advice ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจนทะลุยอดขาย 4 ล้านเล่ม ได้เผยถึงโจทย์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันให้ฟังว่า…

ระยะหลังมานี้ ชาวญี่ปุ่นไม่ได้เน้นให้ลูกเรียนอย่างเดียว แต่จะสร้างเสริมคุณลักษณะหลายๆ ด้านเข้าไปด้วย ซึ่งจะเน้นความเป็นมนุษย์ทั้งในตนเองและในผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติ รู้จักคุณค่าของตัวเอง มีความเกรงอกเกรงใจ ซึ่งความมุ่งหวังนี้เพื่อสร้างลูกให้อยู่ในสังคมอย่างไม่สร้างปัญหาหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

“การทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นเรื่องไม่ดี ถ้าลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่สาธารณะจะเตือนลูกให้รู้ทันที”

คุณอิคาริเผยถึงแนวการสอนที่สะท้อนให้เห็นว่าการสอนลูกให้คิดถึงส่วนรวมเป็นเรื่องที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก ส่วนเรื่องระเบียบวินัยนั้น คุณพ่อชาวญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่า จะไม่เข้มงวดมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด แต่จะยึดหลักความสมดุลโดยเน้นที่ตัวลูกเป็นหลัก เช่น ให้ลูกช่วยกันตั้งกฎกติกาขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมว่าควรจะดู หรือเล่นกี่ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องระเบียบวินัยที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะเน้นสอนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพแล้ว คุณอิคาริยังบอกต่อว่า การเลี้ยงลูกให้มีความสุขคือเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

เลี้ยงลูกแบบ Happy สไตล์พ่อชาวญี่ปุ่น

สำหรับหัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกแบบ Happy สไตล์คุณอิคารินั้น มีหลักง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่คนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับลูกได้ ซึ่งมีเทคนิคดังต่อไปนี้

1.การแสดงความรักของพ่อแม่ควรแสดงอย่างเปิดเผย เช่น การกอด หรือพยายามสื่อสารให้ลูกรู้ว่า พ่อกับแม่รักลูก ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่ และลูกจะมีความสุขไปพร้อมๆ กัน

2.เวลาที่ลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟัง ไม่ควรดุในทันที แต่ควรเปิดใจและรับฟังลูกก่อน นั่นจะทำให้ลูกเริ่มเข้าหาและใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวตามมา

3.รู้จักขอโทษเมื่อทำไม่ดีกับลูก เช่น โมโหเกินไป หรือโกรธที่ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งจริงอยู่ที่บางครั้งมันห้ามไม่ได้ แต่ควรเรียกอารมณ์กลับมาให้เร็วที่สุด และพยายามขอโทษลูกกับอารมณ์ชั่ววูบที่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจทำ

4.ถ้าเห็นลูกพยายามมุ่งมั่นหรือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ควรชื่นชมในทันทีและควรชมบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มีความภูมิใจ และความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ต่อไป

5.ไม่ควรบังคับหรือคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เพราะชีวิตเป็นของลูก และเป็นคนละส่วนของพ่อแม่ ดังนั้น ไม่ควรคิดว่าลูกเป็นเสมือนสิ่งของของตัวเอง

ทั้งนี้ในการเลี้ยงลูกให้มีความสุขนั้น คุณอิคาริฝากเพิ่มเติมว่า คุณพ่อควรสนับสนุนคุณแม่ในการเลี้ยงลูกด้วย เช่น แบ่งเบาภาระให้กับคุณแม่ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การอุ้มลูกไปเล่น รวมถึงช่วยงานบ้านเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญต้องไม่ทำตัวให้เป็นภาระของคุณแม่ แล้วการเลี้ยงลูกจะสนุกและมีความสุขมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ยังถือว่าอยู่บนท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจร่วมไปจะเป็นเหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่และขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความมีวินัยทั้งการเข้าแถวรับความช่วยเหลือโดยไม่มีการแก่งแย่ง การอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่เกะกะขวางทางผู้อื่น ทำให้สถานการณ์ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

จึงมีเรื่องที่น่าสงสัยอีกว่า แล้วพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นมีวิธีฝึกลูกอย่างไรให้เป็นเด็กเก่ง จนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและสามารถสร้างชาติให้เจริญได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายแบบนั้น เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เด็กญี่ปุ่นจะเก่งได้ขนาดนี้ ดังนั้น ลองมาดูความลำบากของเด็กญี่ปุ่นที่ต้องเจอก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพกันค่ะ

1.การเดินเป็นหลัก

เด็กญี่ปุ่นทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไปต้องทางไปโรงเรียนเองไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน โดยเฉพาะเด็กส่วนใหญ่ของประเทศที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลต้องเดินไปกลับโรงเรียนเองไม่ว่าจะเป็นวันฝนตกหนัก พายุเข้าหรือหิมะตก

ในเมืองใหญ่เช่นโตเกียวแม้ว่ามีรถยนต์แต่ผู้ปกครองไม่นำรถยนต์มาใช้หากไม่จำเป็น ดังนั้นครอบครัวยังคงใช้การเดินทางด้วยการขนส่งมวลชนซึ่งแน่นอนว่าใช้การเดินเป็นหลักเพื่อไปยังสถานีรถไฟหรือป้ายขึ้นรถบัสประจำทาง

6 เหตุผลที่เด็กญี่ปุ่น ต้องเดินทางไปโรงเรียนโดยไร้ผู้ปกครอง

แก้ปัญหาการจราจรยามเช้า บริเวณโรงเรียน ที่ผู้ปกครองจะมาส่งลูกๆ

ลดภาระของผู้ปกครอง ตอนเช้าไม่ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน

ส่งเสริมความสัมพันธ์ให้เด็กๆ ในละแวกบ้านเดียวกันได้รู้จักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่ทิ้งกัน ด้วยการให้เด็กโตดูและเด็กเล็กเอง และไปโรงเรียนด้วยกัน

สอนความตรงต่อเวลา ถ้าเด็กคนไหนช้า เพื่อนๆก็จะต้องรอหน้าบ้านจนกว่าจะลงมาแล้วเดินไปพร้อมกัน เพราะใครก็คงไม่อยากให้เพื่อนรอ

เสริมสร้างความรับผิดชอบ ของเด็กโตกว่า ที่จะต้องดูและเด็กเล็กทั้งขาไปและขากลับ พวกเขาจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

สอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม ความสามัคคี ที่จะส่งผลถึงชีวิตการงานในอนาคต

2.การมีหน้าที่ต่างๆ ทั้งที่บ้านและโรงเรียน

ที่บ้านเด็กส่วนใหญ่จะได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ให้ทำงานบ้านที่เหมาะสมกับวัย ส่วนที่โรงเรียนนอกจากหน้าที่ประจำที่ทุกคนต้องทำตลอดทั้งเทอมแล้ว ทุกอาทิตย์เด็กแต่ละห้องเรียนต้องมีหน้าที่ทำความสะอาดห้องเรียนและบริเวณอาคารเรียนเพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

เริ่มที่ความสนใจ

การที่จะฝึกให้เด็กๆ คุ้นเคยกับงานบ้านนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นจากงานที่เด็กสนใจก่อน เพราะความอยากรู้อยากเห็นจะเป็นแรงกระตุ้นให้แกเรียนรู้ และทำสิ่งนั้นได้ดี รวมทั้งรู้สึกสนุกสนานกว่าการที่จะไปบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่สนใจ ดังนั้นถ้าลูกอยากจะเข้ามาช่วยหรือขอเข้ามามีส่วนร่วมขณะที่คุณกำลังง่วนกับงานบ้านอยู่ล่ะก็ อย่าได้ปล่อยโอกาสดี ๆ อย่างนี้ให้ผ่านเลยไป ให้เจ้าตัวเล็กเข้ามาช่วยคุณทำงานดูซิคะ ถึงจะชักช้า วุ่นวาย หรือไม่ทันใจคุณไปบ้าง ก็ขอให้ใจเย็น ๆ กับผู้ช่วยมือใหม่กันหน่อยแล้วกันนะคะ

ทำทีละน้อยดีกว่า

เป็นธรรมดาของเด็กวัยนี้ที่คงยังทำงานยากๆ นักไม่ได้ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกงานที่เหมาะกับลูก หรือไม่ยากเกินความสามารถที่ลูกวัยนี้จะทำได้ สอนลูกโดยทำตัวอย่างและอธิบายวิธีทำไปทีละขั้นให้ชัดเจน และถ้าจะให้ดีในช่วงที่เพิ่งเริ่มต้น คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล้ๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือเมื่อเกิดติดขัด และควรแบ่งงานเป็นส่วนเล็กๆ แล้วให้ลูกทำทีละน้อย จัดให้ทำทีละส่วนที่สามารถทำให้เสร็จได้โดยใช้เวลาไม่นานมากนัก เพื่อให้ลูกทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่รู้สึกเบื่อจนเลิกทำไปเสียก่อน

(อย่าลืมว่า ช่วงเวลาที่เด็กจะให้ความสนใจกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดยังไม่นานนัก) จะได้ช่วยสร้างกำลังใจและทำให้เจ้าตัวเล็กเกิดความมั่นใจไปพร้อมกันด้วย ที่สำคัญอย่าลืมใส่เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยให้การทำงานบ้านนั้นกลายเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับลูกด้วยค่ะ แทนการใช้คำสั่งให้เก็บของเล่นที่เกลื่อนกลาดบนพื้น

คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีชวนลูกเล่นแข่งเก็บของเล่นใส่กล่อง หรือเกมพาน้องตุ๊กตากลับบ้าน (เก็บตุ๊กตาเข้าที่) แล้วบอกลูกว่า น้องตุ๊กตาเขาก็อยากไปนอนที่บ้านของเขาแล้วเหมือนกัน หรือพออยู่ในกล่องของเล่นของหนูจะได้อยู่ด้วยกัน ไม่หายไปไหนไง วิธีนี้ก็จะช่วยให้ลูกยินดีที่จะทำงานนี้มากขึ้น

ย้ำเตือนหากหลงลืม

ถึงคุณพ่อคุณแม่จะตั้งใจ พยายามทำตามขั้นตอนทุกอย่างแล้วก็ตาม แต่ก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะต้องทำหรือทำดีอย่างที่คุณสอนทุกครั้ง เด็ก ๆ อาจจะหลงลืมทำหน้าที่ของตัวเองหรือทำไม่เรียบร้อยอย่างที่เคยเป็นก็ได้ อธิบายขั้นตอนการทำงานนั้นอีกครั้ง และไม่ควรแก้ไขด้วยการบ่นว่าหรือตำหนิลูก เพราะนั่นจะทำลูกรู้สึกเบื่องานบ้านและคุณพ่อคุณแม่(ขี้บ่น)ได้ อีกหน่อยแกก็จะสนใจฟังคุณ ทางที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูดจาดี ๆ กับลูก เพื่อชักชวนให้เจ้าตัวเล็กมาทำกิจกรรมนี้ด้วยกันกับคุณอย่างเต็มใจจะดีกว่า

เอ่ยชมฝีมือของลูก

คำชมและเสียงตบมือเป็นกำลังใจที่เด็ก ๆ ต้องการ เมื่อลูกทำงานได้สำเร็จหรือทำได้ดี คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมชมเชยและชื่นชมในความสามารถของลูกบ้าง รับรองผู้ช่วยตัวน้อยของคุณมีแต่จะดีใจอวดยิ้มหน้าบานไปทั้งวัน

เพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ

งานบ้านที่คุณสอนลูกให้ทำนั้น จะทำให้ลูกสามารถทำสิ่งง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นของชีวิตได้ ซึ่งถ้าเด็กสามารถทำได้ แกก็จะดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น

3.การไปพักแรมกับโรงเรียน

เด็กประถมศึกษาปีตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไปต้องไปพักแรมนอกสถานที่กับโรงเรียนอย่างน้อย 2 คืนซึ่งมีกิจกรรมเดินทางไกลและปรุงอาหารกินเอง (การให้เด็กเข้าค่ายพักแรมนี้น่าจะเหมือนกับระบบโรงเรียนของเมืองไทยอย่างการเข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารี)

4.การซ้อมค้างคืนจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวกลับบ้านไม่ได้

เด็กญี่ปุ่นในชั้นประถมปีที่ 5 ต้องค้างคืนที่โรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งคืนด้วยชุดที่ใส่มาจากบ้านโดยไม่มีการอาบน้ำ และต้องกินอาหารสำเร็จรูปหรือขนมปังกระป๋องเพื่อฝึกซ้อมค้างคืนที่โรงเรียนหากมีภัยแผ่นดินไหวจนเป็นเหตุให้เด็กกลับบ้านไม่ได้

5.การเข้าค่ายว่ายน้ำทะเล

ทุกปิดภาคฤดูร้อนโรงเรียนจะจัดให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 6 ไปพักแรมริมทะเล และร่วมกิจกรรมการว่ายน้ำอย่างน้อย 500 เมตร เพื่อฝึกทักษะการรู้จักระมัดระวังตัวเองและเอาตัวรอดจากภัยการจมน้ำ

6.การเข้าค่ายต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ตัวเล็กๆ

ทุกปิดเทอมผู้ปกครองส่วนใหญ่มักให้เด็กๆ ไปเข้าค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายการกีฬา ค่ายโรงเรียนสอนพิเศษและค่ายที่จัดโดยสถาบันที่มีความชำนาญต่างๆ เพื่อให้เด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 เป็นต้นไป ทำให้ได้รู้จักการช่วยเหลือตนเองและรู้จักการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม

7.การมีความสามารถพิเศษที่เป็นผลมาจากความพยายาม

เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่เรียนพิเศษเพื่อให้มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ศิลปะหรือกีฬา ซึ่งหากเป็นด้านดนตรีเด็กๆ จะต้องมีการแสดงใหญ่ให้ผู้ปกครองได้ชมทุกปีดังนั้น ทุกคนต้องฝึกซ้อมดนตรีอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง เช่นเดียวกับการเล่นกีฬาโดยส่วนใหญ่จะมีการจัดแข่งขันตามที่ต่างๆซึ่งใกล้หรือไกลบ้านอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาทักษะการกีฬาให้แก่เด็กๆ

8.การเรียนพิเศษที่หนัก

ในปัจจุบันเด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่สี่เป็นต้นไป มักเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อสอบเข้าโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงทั้งที่เป็นของเอกชนและรัฐบาล การได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆและมีชื่อเสียงจะเป็นหลักประกันว่าเด็กๆสามารถสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีๆ ได้

จากความลำบากดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างความลำบากที่ผู้ใหญ่จัดให้เด็กญี่ปุ่น แม้ว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการให้ลูกได้รู้จักความลำบากบ้างจะช่วยสร้างความอดทน ความเพียรพยายามและการเรียนรู้เพื่อปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อเด็กจะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ซากุระเมืองร้อน , teen.mthai.com , campus.sanook.com , www.manager.co.th , www.aksaraforkids.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น